เป็นประจำทุกปีที่คนไทยจะถือฤกษ์ดี “วันสงกรานต์” หรือปีใหม่ไทย เป็นจุดเริ่มต้นเสริมสิริมงคล โดยกำหนดให้วันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” เป็นวันแรกของเทศกาล วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันเถลิงศก” ซึ่งปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ ทั้งพิธีหลวง และพิธีราษฎร์ จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ในการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น ผ่อนคลายช่วงที่ร้อน ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และรดน้ำอัฐิ เป็นการแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ แม้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ มีพัฒนาการ และแนวโน้มคลาดเคลื่อนไป มุ่งแต่การเล่นสาดน้ำ เพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก จนหลงลืมแก่นแท้ความดีงามของประเพณีลงไปบ้าง แต่ยังคงหลงเหลือกลิ่นอายของวันครอบครัวที่ลูกหลานได้กลับบ้านมาอยู่พร้อมหน้า
แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนค่อนข้างจะอัดอั้น เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเล่นสาดน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนานได้เหมือนเคย ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เว้นแต่การไหว้พระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อเสริมสิริมงคล ยังสามารถทำได้ตามปกติ เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาม
“กรมศิลปากร” จึงอัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่วันที่ 12-14 เมษายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สำหรับ “พระกรัณฑ์ทองคำลงยา” ภายในประดิษฐานพระธาตุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร เป็นภาชนะทองคำทรงโกศยอดปริกขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระธาตุ 23 องค์ เดิมทีพระกรัณฑ์นี้อยู่ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วน “เทวดานพเคราะห์” หรือเทวดาทั้ง 9 องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ ที่ให้โทษ หรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ จึงต้องมีผู้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ “พระคเณศ” เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล ในคติความเชื่อของไทย กล่าวว่าเทวดานพเคราะห์นั้น กำเนิดมาจากพระอิศวรเป็นผู้สร้างขึ้นมา ลักษณะที่ปรากฏจึงแตกต่างจากคติความเชื่อของฮินดู และมีความเชื่อมโยงทางคติความเชื่อทางพุทธศาสนามากกว่าศาสนาฮินดู ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือสามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริง และมีชีวิตชีวา สันนิษฐานว่าหล่อขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
ซึ่ง เทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ประกอบด้วย
1.พระอาทิตย์ เทวดานพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งปวง ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์
2.พระจันทร์ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน
3.พระอังคาร ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน
4.พระพุธ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย
5.พระเสาร์ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม
6.พระพฤหัสบดี ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น
7.พระราหู ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพ นพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ลุ่มหลงมัวเมา
8.พระศุกร์ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท
9.พระเกตุ ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง
ใครอยู่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถพาครอบครัวแวะเวียนมาไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ชมความงดงามของโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันได้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เตรียมพร้อมก่อนกลับมาทำงานสู้ชีวิตกันต่อไป
แหล่งที่มา : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_3285075