สัปดาห์ที่แล้วเราหลบไปสำรวจเส้นทางการนั่งเรือไปสู่ “เจดีย์ภูเขาทอง” แห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของท่าน “สุนทรภู่” ในนิราศภูเขาทอง…เพื่อเป็นการหาความรู้เพิ่ม เติมเล็กๆน้อยๆ ตามสไตล์ของทีมงานซอกแซก
สัปดาห์นี้ขอกลับเข้าสู่เรื่องราวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ทีมงานซอกแซกไปเข้าชั้นเรียนกับท่านอาจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ตามเดิมนะครับ เพราะยังมี “จุดสำคัญ” ที่คณะของเราแวะไปเยี่ยมชมที่สมควรแก่การเขียนถึงอย่างน้อยอีก 2 จุด ก่อนที่จะจบสารคดีพิเศษชุดนี้ ได้แก่ วัดราชบูรณะ กับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่พอสมควร
เราจะเริ่มกันที่ วัดราชบูรณะ ก่อนนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่คู่กรุงศรีอยุธยาวัดหนึ่งแล้ว ยังปรากฏเรื่องราวอีกว่า สืบต่อมากว่า 500 ปี หลังจากสร้างวัด…วัดราชบูรณะกลับมาเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นพาดหัวในเรื่องใดนั้น…จะได้กล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป
วัดราชบูรณะตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณ พระราชวังโบราณ แห่งกรุงศรีอยุธยาเท่าไรนัก และก็อยู่ใกล้ๆกับวัดมหาธาตุนั่นเอง ขับรถเข้าอยุธยาก็จะเห็นป้ายบอกทางอย่างชัดเจน
ทุกตำราระบุตรงกันว่า วัดนี้สร้างโดย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.1967 ที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัตินั่นเอง
ซึ่งในการขึ้นครองราชย์ของเจ้าสามพระยานั้นก็คงจะทราบกันบ้างแล้วว่า พระองค์ท่านได้ขึ้นครองโดยมิได้คาดหมายไว้ก่อน เพราะเป็นถึงพระโอรสองค์ที่ 3 ของ สมเด็จพระนครอินทราธิราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 ของกรุงศรีอยุธยา
แต่ด้วยพระบุญญาบารมีที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ปรากฏว่าในวันที่พระราชบิดาคือ สมเด็จพระนครอินทราธิราชเสด็จสวรรคตนั้น พระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์อันได้แก่ เจ้าอ้ายพระยา องค์ใหญ่ ซึ่งไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี และ เจ้ายี่พระยา องค์รอง ซึ่งไปปกครองเมืองแพรกศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี ในปัจจุบัน) ได้ยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาหวังมาสืบราชสมบัติด้วยกันทั้งคู่
เกิดโต้เถียงกันถึงขั้นเข้ากระทำยุทธหัตถีต่อกันจนสิ้นชีพตักษัยไปด้วยกันทั้ง 2 พระองค์
เจ้าสามพระยา โอรสพระองค์เล็ก ไปปกครองเมืองพิษณุโลก เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาล่าสุด จึงขึ้นครองราชย์แทนพระบิดาและพระเชษฐาทั้ง 2
นับเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่ง สามารถขยายอาณาเขตการปกครองของราชอาณาจักรอยุธยาไปจนถึงล้านนาและกัมพูชาได้ในเวลาต่อมา
ภายหลังขึ้นครองราชย์ในพระนามว่า สมเด็จพระราชาธิราชที่ 2 แล้วทรงโปรด ให้นำพระศพพระเชษฐา ทั้ง 2 พระองค์มาถวายพระเพลิง ร่วมกัน พร้อมกับสร้าง วัดราชบูรณะ ขึ้นในบริเวณที่ถวาย พระเพลิงนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเชษฐาทั้ง 2
ครับ! ประวัติของวัดราชบูรณะโดยสั้นๆก็คงจะมีเพียงเท่านี้ และต่อจากนั้นมาในฐานะที่เป็นวัดใหญ่วัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ก็ได้รับการบูรณะและดูแลอย่างดีจากพระมหากษัตริย์พระองค์หลังๆมาโดยตลอด
ทำให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆในตัววัดไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถหรือพระปรางค์ต่างๆยังคงเหลือให้เห็นเป็นรูปร่างที่โดดเด่นใหญ่โต แม้จะปรักพังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 ไปพอสมควร เช่นเดียวกับวัดอื่นๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ตาม
จาก พ.ศ.1967 วันสร้างวัดราชบูรณะมาจนถึง พ.ศ.2499 แห่งยุครัตนโกสินทร์ วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก 532 ปีพอดิบพอดี
หรือหากนับจากปีกรุงแตก พ.ศ.2310 ถึง พ.ศ.2499 ก็เป็นเวลา 189 ปี นับว่านานโขอยู่
รัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ ณ พ.ศ.2499 ได้แก่ รัฐบาลของท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่นเอง
อยู่มาวันหนึ่งก็มีข่าวว่า มีคนร้ายลอบไปขุดกรุใต้พระปรางค์ในวัดราชบูรณะ พบเครื่องทองและ อัญมณีจำนวนมาก แต่เนื่องจากฝนตกหนักและเป็นการเข้าไปแบบลักลอบ จึงขนไปได้จำนวนหนึ่ง แม้ต่อมาตำรวจจะตามกลับคืนมาได้บางส่วน แต่ก็เชื่อว่าน่าจะสูญหายไปพอสมควร
หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวว่า ทองที่พบมีจำนวนหลายกระสอบ คนร้ายแบ่งกันคนละ 10 กิโลกรัม แต่โลภมากแย่งกันทำให้ความแตกโดนตำรวจจับกุมได้ส่วนหนึ่ง
หลังจากนั้น กรมศิลปากรก็ดำเนินการจัดทีมไปขุดกรุวัดราชบูรณะอย่างเป็นทางการ พบเครื่องทองต่างๆอีกมากมายรวมทั้งพระพุทธรูปโบราณด้วย ปัจจุบันขนย้ายมาเก็บรักษาไว้อย่างดียิ่งที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งเราได้แวะไปเยี่ยมชมและจะเขียนถึงในบทส่งท้ายของการเข้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในสัปดาห์ต่อไป
มีประเด็นให้ถกเถียงกันว่า เครื่องทองและของมีค่าในกรุของวัดราชบูรณะนั้นเป็นเครื่องเงินเครื่องทอง หรือทรัพย์สมบัติของชาวกรุงศรีอยุธยาที่นำไปฝังไว้ในวัดก่อนกรุงแตกเพื่อซ่อนเร้นพม่าข้าศึก…ใช่หรือไม่?
คำตอบที่กรมศิลปากรตอบก็คือ ไม่ใช่ครับ …แต่เป็นการตั้งใจถวายเงิน ถวายทองและข้าวของมีค่าของผู้คนในกรุงศรีอยุธยาทั้งจากในรั้วในวัง และประชาชนที่มีเงินมีทองทั่วๆไปเพื่อร่วมสร้างวัดต่างหาก โดยนำไปฝังไว้ใต้พระปรางค์ของวัดเสมือนหนึ่งการฝากของมีค่าไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อผู้ฝากจะตามไปเบิกใช้ในชาติหน้านั่นเอง
ข้าวของที่ค้นพบ นอกจากจะเป็นเครื่องทองที่มีคุณค่าแล้ว ยังมีเครื่องประดับอัญมณีที่เชื่อกันว่าเป็นของใช้ประจำตัวของผู้ร่วมถวายอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องอีกมากเช่นกัน สามารถนำออกจำหน่ายจนรวบรวมเงินสร้างพิพิธ ภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาได้ 1 อาคารใหญ่ๆเลยทีเดียว
นี่คือความโด่งดังของวัดนี้…โดยดังครั้งแรกเมื่อ 532 ปีก่อน เมื่อมีการกระทำยุทธหัตถีครั้งใหญ่ จนเป็นที่มาของการสร้างวัด…และหลัง จากนั้น 532 ปีผ่านไป ก็มาดังจากข่าวกรุแตกเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ใน พ.ศ.2499 และ พ.ศ.2500 ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ไปค้นหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติครับ.
แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2381156