“วันวิสาขบูชา 2565” ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงทำให้ได้นึกถึงสมัยที่ “อ้ายจง” ใช้ชีวิตในเมืองจีน มีโอกาสได้ไปสอนภาษาไทยให้นักศึกษาจีนอยู่บ้างเหมือนกัน ทำให้มีการพูดคุยกันถึงวัฒนธรรมความเชื่อด้านศาสนาของคนไทย โดยเขาจะสอบถามเกี่ยวกับศาสนาพุทธพอสมควรเลย ส่วนใหญ่จะถามว่า คนไทยนับถือศาสนาพุทธกันทุกคนเลยใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นคนไทยทุกคนก็เป็นคนดีมีศีลธรรมกันทุกคนแน่ๆ เลย นี่คือภาพจำของ “คนจีน” ที่มีต่อ “คนไทย” ในแง่ของการนับถือศาสนาพุทธ ส่งผลไม่น้อยต่อเรื่องของการตลาดสินค้าไทยในจีนอย่าง “พระเครื่องไทย” ซึ่งวันนี้อ้ายจงจะนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบกัน
ทำไม “ตลาดพระเครื่องและเครื่องรางของขลังจากไทย” ถึงดังไกลในจีน?
ประเด็น “ตลาดพระเครื่องและเครื่องรางของขลังไทย” อ้ายจงขอออกตัวก่อนว่า ไม่ได้จะสื่อถึงความเป็นพุทธพาณิชย์ เพราะถือเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีตลาดเฉพาะที่รองรับการแลกเปลี่ยนพระเครื่องและเครื่องรางของขลังไทยในจีนโดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ และมีมานับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงตลาดท่องเที่ยวไทยบูม ก็มีนักท่องเที่ยวจีนไม่น้อย เดินทางมาไทย เพื่อให้ไกด์คนไทยพาไปบูชาตามวัดต่างๆ ที่โด่งดัง ทั้งดังแท้และดังเทียม
คนจีนใส่ “พระเครื่องไทย” ทำไม?
คนจีนใส่ “พระเครื่องไทย” ทำไม? ประเด็นนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 เหตุผล ดังนี้
เหตุผลแรก ต้องการเรื่องของพุทธคุณ และมองเป็นอำนาจปาฏิหาริย์แบบลี้ลับ ตามความเชื่อของพวกเขา โดยคนจีนจำนวนไม่น้อยมองว่า เมื่อใส่พระเครื่องแล้วสามารถขออะไรก็ได้ และก็มีคนที่ตามหาพระเครื่องที่มีพุทธคุณที่ตรงตามความประสงค์ของเขาโดยเฉพาะ ซึ่งก็กลายเป็นหนึ่งใน Key Message หรือสาระสำคัญที่คนทำธุรกิจด้านนี้ใช้ดึงดูดคนจีน หรือนำมาประชาสัมพันธ์ว่า พระเครื่องจากวัดนั้น วัดนี้ เกจิอาจารย์รูปนี้ ช่วยส่งเสริมด้านใด อาทิ ด้านเงิน การเรียน การงาน คู่ครอง แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นต้น พระเครื่องไทยในมุมมองของคนจีน จึงแตกขยายไปรวมถึงเครื่องรางต่างๆ ซึ่งจะว่าไปตามตรง จะแตกต่างจากวัตถุประสงค์ในการสร้างพระเครื่องคือเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมคำสอน
เหตุผลที่สอง คนจีนมองว่า พระเครื่องไทย เป็นเครื่องประดับ และสินค้าตามกระแส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผูกกับกระแสท่องเที่ยวไทย
อ้ายจง ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “พระเครื่องไทย” หรือในภาษาจีนใช้คำว่า 泰国佛牌 (泰国 ไท่กั๋ว = ไทย และ 佛牌 ฝอผาย = พระเครื่อง) บน Baidu เครื่องมือค้นหาข้อมูลออนไลน์ที่คนจีนนิยมใช้ โดยวิเคราะห์ข้อมูลช่วงปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ที่เป็นช่วงคนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก เนื่องด้วยหยุดยาวตรุษจีน คนจีนค้นหาคำว่า 泰国佛牌 พระเครื่องไทย วันละเกือบ 1,000 ครั้ง อาจจะดูเป็นจำนวนที่น้อยถ้าเทียบกับประชากรจีน แต่ก็ถือว่า เป็นคำค้นหาเฉพาะเจาะจง หรือ Niche keyword ส่วนใหญ่ค้นหาจากพื้นที่กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างโจว (กวางเจา) และเมืองหังโจว ซึ่งเป็นเมืองที่มีเส้นทางบินตรงมาถึงไทยทั้งหมด
จากการวิเคราะห์ Big Data คำค้นหาบน Baidu ทำให้เจออีกประเด็นที่น่าสนใจ เป็นคำค้นหาที่เกี่ยวข้องเมื่อค้นหา พระเครื่องไทย ซึ่งได้แก่คำว่า 泰国佛牌极度危险 แปลเป็นไทยว่า “พระเครื่องไทยอันตรายมาก” คำค้นหานี้สอดคล้องกับการสัมภาษณ์ทั้งผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับพระเครื่องและชาวจีน โดยต่างบอกตรงกันว่า สิ่งหนึ่งที่กังวลเวลาจะบูชาพระเครื่องไทยคือ เคยได้ยินถึงเรื่องอันตรายหากบูชาไม่ถูกต้อง หรือหากเลิกบูชาอาจมีอันตรายได้ ถ้าไม่มีการประกอบพิธีกรรมเลิกบูชา และอื่นๆ อีก ที่บ่งบอกถึงความลี้ลับและสื่อถึงอันตราย
เมื่อดูเนื้อหาบนโลกออนไลน์จีน ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหา 泰国佛牌极度危险 ก็พอจะรับรู้ถึงภาพจำที่คนจีนเขามองในประเด็นนี้ อย่างเช่น การเขียนสื่อถึง “ห้ามจับพระเครื่องไทย เพราะจะทำให้เกิดอันตราย” โดยหลายเนื้อหานั้นเป็นความเข้าใจผิดของคนจีน รวมทั้งมีการเหมารวมว่า กุมารทอง ปลัดขิก และเครื่องรางต่างๆ จัดอยู่ในหมวดหมู่พระเครื่องไทยด้วย
เมื่ออ้ายจงลองไปค้นหาบนเถาเป่า (Taobao) หนึ่งในแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ ที่มีการแลกเปลี่ยนพระเครื่องไทยด้วย ก็ถึงบางอ้อ เมื่อเวลาค้นหา “พระเครื่องไทย” พบว่า มากกว่า 50% ของผลการค้นหาเป็นพวกสินค้าเครื่องราง ไม่ใช่พระเครื่องแต่อย่างใด ถ้าเป็นไปได้จึงอยากแนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง อยากให้มุ่งเน้นความสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเมื่อมีการทำการตลาดด้วย
นอกเหนือไปจากตลาดพระเครื่อง ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาพจำของคนจีนที่มองประเทศไทยเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา “สินค้าไทยมีแต่คุณภาพดี เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยมีคุณธรรมศีลธรรมตามหลักของศาสนาพุทธ” ก็เป็นอีกหนึ่งการจดจำของคนจีนบางกลุ่มที่ติดตามเรื่องราวไทยไทย โดยเวลาที่มีข่าวเชิงลบของไทยจึงทำให้เห็นความคิดเห็นของคนจีน เขียนในทำนองที่ว่า “ไหนคนไทยเป็นชาวพุทธไง ทำไมถึงมีเรื่องไม่ดีแบบนั้นเกิดขึ้นได้ล่ะ”
อ้ายจงว่า เปรียบเหมือนดาบสองคมนะ คมหนึ่งเป็นคมด้านบวก คนจีนเชื่อถือในสินค้าไทยจากภาพจำเรื่องศาสนาพุทธ แต่อีกคมที่อาจเป็นคมบาดลึกจนเกิดแผลฉกรรจ์ หากเราทำคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความคาดหวังของพวกเขา และถ้าเราจะใช้แต่เพียงความเป็นไทย ความเป็นเมืองพุทธ แค่ขายของอย่างเดียว ยิ่งเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะทุกวันนี้สินค้าไทยเข้าไปในจีนไม่น้อย มีทั้งสินค้าจีนเองที่ปลอมหรืออ้างเป็นสินค้าแบรนด์ไทย ดังนั้น การสร้างคุณภาพ การสร้างจุดเด่นที่ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ จะเป็นคำตอบที่ยั่งยืนมากกว่า
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1004530