“แม่ย่านาง”ผู้คุ้มครองป้องกันภยันตรายประจำพาหนะทุกชนิด เรื่องนี้มีประวัติความเป็นมา วิธีกราบไหว้บูชา ของไหว้ เพื่อให้คุ้มครองการเดินทาง
ที่ประเทศจีน มีความเชื่อว่า เทพผู้คุ้มครองทางทะเล มีตัวตนจริงๆ ชื่อว่า มาจู่ เป็นธิดาของหลินหยวนผู้บัญชาการทหารในอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ในสมัยพระเจ้าซ่งไท่จู่ (พ.ศ. 1503-1519)
มีอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย เช่น บันดาลลมไล่เรือโจรสลัดที่มาปล้นคนจีน,ช่วยเหลือทูตจีนให้รอดชีวิตจากเรือแตก, บันดาลหมอกปกคลุมไม่ให้โจรมองเห็นทัพหลวง ฯลฯ
สมัยราชวงศ์หยวน เริ่มมีการค้าขายทางทะเลมากขึ้น ประชาชนยกย่องมาจู่ให้เป็นเทพแห่งทะเล นิยมเซ่นไหว้ ตั้งศาลบูชาไปทั่วชายทะเลของจีน
ในสมัยราชวงศ์ หมิง-ชิง ความเชื่อนี้ยิ่งแพร่หลาย “มาจู่” (พระแม่ย่า) (ชาวจีนแต้จิ๋วเรียก หม่าโจ้ว) เป็นเทพผู้คุ้มครองทางทะเล
มีนักเดินเรือนามว่า “เจิ้งเหอ” เดินทางมายังอุษาคเนย์ก็ได้พบกับคลื่นลมทะเลขนาดหนัก จึงได้เซ่นไหว้ขอให้ “มาจู่”คุ้มครอง
ทันใดนั้นก็มองเห็น มาจู่ มายืนอยู่บนเสากระโดงเรือ แล้วคลื่นลมก็สงบลง เจิ้งเหอเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็จัดพิธีบวงสรวงทันที ความเชื่อนี้ก็แพร่หลายเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เจ้าแม่ทับทิม
คนไทยเรียก “มาจู่” ว่า “เจ้าแม่ทับทิม” และชื่ออื่นๆ เช่น ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข ชลบุรี, ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ นราธิวาส, ศาลเจ้าแม่มาจ้อโป๋ พังงา, ศาลซิมซานเทียนเฮวกึ๋ง ภูเก็ต (เทียนเฮว คือ เทียนโฮ่ว ราชินีสวรรค์)
อีกตำนานหนึ่ง มีความเชื่อว่า มีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นกัปตันเรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ เป็นคนจิตใจดี วันหนึ่งประสบเหตุพายุลูกใหญ่ จึงอธิษฐานขอพระอินทร์ให้ไว้ชีวิตลูกเรือของเธอทั้งหมด
พระอินทร์ยื่นข้อเสนอว่า หากช่วยแล้วต้องแลกกับการที่เธอต้องอยู่บนเรือลำนี้ตลอดไป เธอตอบตกลงทันที พายุก็สงบลง หญิงสาวกัปตันเรือก็ได้หายตัวไปตั้งแต่นั้นจึงมีการกราบไหว้ แม่ย่านางเรือ ในฐานะเทพคุ้มครองการเดินทาง
Cr.เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
แม่ย่านางของชาวประมง
ชาวประมงเชื่อว่า ในเรือประมงทุกลำ จะมี แม่ย่านางเรือ ประทับอยู่ ก่อนออกเรือจับปลาทุกครั้ง ชาวประมงจะมีการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ จุดประทัด คุ้มครองให้ปลอดภัยกลับมาและจับปลาได้มาก ๆ
ที่ จ.สมุทรสาคร เจ้าของเรือ จะทำพิธีไหว้แม่ย่านาง ด้วย ขนมจันอับ เป็ด ปลาหมึกแห้ง เนื้อหมูสามชั้น ข้าว ผลไม้ 3 อย่าง ผ้าสามสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป 1 กำ ดอกไม้ 1 กำ น้ำ 1 ขัน กิ่งทับทิม 1 กำ นำใส่ถาด ไปวางที่โขนเรือ
จากนั้นก็จุดธูป อัญเชิญแม่ย่านางเรือมารับเครื่องเซ่นไหว้ อธิษฐานขอให้คุ้มครองปกปัองจากภัยอันตราย แล้วนำผ้าสามสี ดอกไม้ ธูป ไปผูกที่โขนเรือ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ประพรมน้ำจากขันด้วยกิ่งทับทิมจนทั่วลำเรือ แล้วค่อยออกเรือ
ชาวประมงเชื่อว่าโขนเรือเป็นที่ประทับของแม่ย่านางเรือ เป็นสถานที่สำคัญ ห้ามผู้ใดขึ้นไปเหยียบ ยืน นั่ง ข้าม หากทำแล้วจะทำให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นแก่เจ้าของเรือและลูกเรือ
การเดินทางที่เปลี่ยนไป
คนไทยมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” มาช้านาน สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีขวัญ เมื่อนำสัตว์มาเป็นพาหนะก็ต้องมีการทำขวัญ เป็นการกราบไหว้บูชาไม่ให้มีภัยอันตราย
ต่อมามีการเดินทางมากขึ้น คนก็ตัดไม้มาทำเรือ ทำเกวียน มีความเชื่อเรื่อง “เทพารักษ์” สถิตอยู่ในต้นไม้ จึงมีการกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล
ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ความเชื่อเรื่อง “เทพารักษ์” ความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” จึงได้รวมกันเป็นพิธีกราบไหว้แม่ย่านาง
เมื่อการคมนาคมเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบก เรือ มาเป็น รถ พิธีกราบไหว้แม่ย่านางจากตำแหน่งหัวเรือก็กลายมาเป็นด้านหน้ารถ คอนโซลรถ
นิยมนำผ้าสามสีและพวงมาลัย มาผูกแขวนไว้ที่พวงมาลัยและกระจกหน้ารถ รวมถึงติดตั้งเครื่องรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ที่หน้ารถ
Cr.เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
การกราบไหว้แม่ย่านาง
ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะใด จะต้องมีฤกษ์ยามวันเวลาออกรถ สีของยานพาหนะ เลขทะเบียน และวันไหว้แม่ย่านาง
ปกติแล้ว คนไทย นิยมไหว้แม่ย่านาง ช่วงสงกรานต์ วันที่ 15 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยตามประเพณีโบราณ
ส่วน คนไทยเชื้อสายจีน นิยมไหว้แม่ย่านาง ในช่วงตรุษจีน วันขึ้นปีใหม่จีน เชื่อว่าไหว้แล้วชีวิตจะดีมีความเฮงร่ำรวยเงินทอง
แต่ถ้าไม่สะดวกทั้งสองเทศกาล ก็ให้เลือกเอาวันพระ หรือวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ ก็นับได้ว่ามงคลแล้ว
ปกติไหว้ปีละครั้ง
การกราบไหว้ แม่ย่านาง ปกติจะไหว้กันปีละครั้ง แต่สำหรับผู้ที่ทำอาชีพหรือมีธุรกิจเกี่ยวกับรถ ไม่ว่ารถโดยสาร รถขนส่ง จะมีพิธีไหว้ปีละ 2 ครั้ง
วันไหว้ ก็ให้ดูตามฤกษ์ยามที่ดี
เวลาไหว้ ที่เป็นมงคล คือ ช่วงเช้า 7.09-10.09
ของไหว้ ได้แก่ ผลไม้ 5 ชนิด คือ กล้วยน้ำว้าสุก 2 หวี, ผลไม้ที่มีชื่อมงคล 4 ชนิด, ข้าวสวย 1ถ้วย, น้ำสะอาด 1 แก้ว, หมาก พูล ยาเส้นสีฟัน 3 คำ, ยาสูบ 3 มวน, ธูป 9 ดอก, พวงมาลัย ดอกไม้สด
Cr.เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง
วิธีการไหว้
จัดวางของทุกอย่างบนโต๊ะให้เรียบร้อย ตั้งโต๊ะที่จะไหว้ ห่างจากหน้ารถไม่เกิน 1 เมตร จากนั้นเริ่มสตาร์ทรถ บีบแตร 3 ครั้ง เป็นสัญญาณเริ่มต้นการทำพิธี จุดธูป 9 ดอก กล่าวบทสวด คำถวายของไหว้ แม่ย่านาง ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3จบ)
สทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ทุติยัมปิ สุทินนัง วัตถุทานัง อาสะวะ ขะยาวะหัง
โหตุตะติยัม สุทินนัง วัตถุทานัง อาสาวะ ขะยาวะหัง โหตุ
ลูกขอถวายสิ่งเหล่านี้แก่แม่ย่านางรถ ขอท่านจงรับสิ่งเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ลูกทั้งหลาย เทอญ สาธุ
จากนั้นอธิษฐานจิต ขอให้ แม่ย่านาง คุ้มครองให้การขับรถทุกครั้งปลอดภัย ไม่ว่าเดินทางไปในทิศทางไหน ขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ขอให้รถคันนี้ช่วยสร้างความร่ำรวยแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ
จากนั้นรอให้ธูปหมดดอก แล้วกล่าวคำลาของไหว้ ด้วยบทสวดต่อไปนี้
บทสวดลา ของไหว้ แม่ย่านางรถ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พุทธังลา ธัมมังลา สังฆังลา
ข้าพเจ้าขอลาสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เป็นทานต่อไป และเพื่อเป็นยารักษาโรค อย่าให้เกิดโทษใดๆ เลย
นะ เสสัง มังคะลา ยาจามะ
เมื่ออธิษฐานเสร็จ เป็นอันจบพิธี การสวดลาของไหว้ ไม่ต้องจุดธูป แต่อย่างใด ส่วน ของไหว้ ก็นำมารับประทานได้ตามปกติ หรือแจกจ่ายให้กับผู้อื่นเพื่อความเป็นสิริมงคล น้ำในขวดที่ไหว้ก็นำมากรวดน้ำอุทิศบุญให้กับแม่ย่านาง เป็นการเสริมพลังอีกทางหนึ่ง
แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1006221